หอคอยสีชมพู

pink-tower

อุปกรณ์            

  • ลูกบาศก์สีชมพูขนาดต่างกัน จำนวน 10 ชิ้น โดยชิ้นเล็กที่สุดมีขนาด 1 ลูกบาศก์เซนติเมตรไป จนถึงขนาดใหญ่ที่สุดคือ 10 ลูกบาศก์เซนติเมตร
  • เสื่อสำหรับปูพื้น

วัตถุประสงค์      

  • เพื่อฝึกกล้ามเนื้อและประสาทรับรู้ในการมองเห็นมิติต่างๆ
  • เพื่อพัฒนาการทำงานประสานสัมพันธ์ของกล้ามเนื้อเคลื่อนไหวและกลไกการควบคุม
  • เพื่อเตรียมความพร้อมด้านคณิตศาสตร์ทางอ้อม โดยเด็กจะได้ประสบการณ์ด้านการเปรียบเทียบ การแบ่งกลุ่ม การเรียงลำดับและรู้จักคำศัพท์พื้นฐานทางคณิตศาสตร์

กลไกควบคุมข้อผิดพลาด

               ถ้าเด็กสร้างโดยเรียงไม่ถูกต้องอาจจะทำให้บล็อกหล่นลงมาและนี่คือสิ่งซึ่งแสดงให้เห็นถึงความผิดพลาด แต่ถ้าเป็นข้อผิดพลาดเพียงเล็กน้อย ครูไม่ควรขัดจังหวะเด็ก ควรปล่อยให้เด็กแก้ไขข้อผิดพลาดด้วยตนเองก่อน และถ้าจำเป็นครูควรจะต้องสาธิตให้เด็กดูอีกครั้ง เด็กจะตระหนักถึงข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นเมื่อเห็นวิธีการสร้างที่ถูกต้องจากครู

คำศัพท์ที่ได้  

  • ใหญ่ ใหญ่กว่า ใหญ่ที่สุด
  • เล็ก เล็กกว่า เล็กที่สุด
  • ใหญ่เท่ากับ เล็กเท่ากับ
  • ใหญ่ เล็ก

ระดับอายุ

                2 ½ ขวบขึ้นไป

ข้อเสนอแนะ        

               ตอนที่ 1 กิจกรรมนี้เป็นการแนะนำกับเด็กเป็นรายบุคคลบนเสื่อ ครูสาธิตให้เด็กดูวิธีการยกสื่อทีละชิ้นและวางคละกันไว้บนเสื่ออย่างระมัดระวัง โดยอาจจะให้เด็กช่วยด้วย จากนั้นครูก็เริ่มสร้างหอคอย โดยวางบล็อกไม้ต่อกันไว้ตรงกลางของชิ้นก่อนหน้าตามลำดับทีละชิ้น เมื่อสร้างเสร็จแล้วหยุดสักครู่ แล้วค่อยๆหยิบบล็อกไม้ลงที่ละชิ้นแล้วชักชวนเด็กให้ลองสร้างหอคอยดูบ้าง สิ่งสำคัญในการจับบล็อกไม้ก็คือวางนิ้วให้สัมผัสด้านทั้งสี่ของไม้ โดยมีเหตุผลคือเพื่อให้กล้ามเนื้อมือของเด็กที่สัมผัสลงบนไม้ ได้รู้สึกถึงขนาดที่แตกต่างกันของบล็อกไม้แต่ละก้อน  เมื่อเด็กสามารถสร้างหอคอยได้สำเร็จแล้วครูควรแนะนำเด็กให้ใช้เวลาลองทำอีกตามลำพังถ้าเด็กต้องการ แต่ในทางกลับกัน หากเด็กไม่สามารถสร้างได้สำเร็จ ครูก็เพียงแต่กล่าวขอบคุณเด็กและบอกกับเด็กว่าหากต้องการใช้อุปกรณ์ชิ้นนี้อีกเมื่อไหร่ก็ให้ชวนครูมาทำได้ทุกเวลา กระบวนการเหล่านี้ ควรทำทุกครั้งในการเริ่มต้นแนะนำอุปกรณ์  และครูควรอธิบายให้เด็กทราบด้วยว่าทุกครั้งที่เก็บของเข้าที่ต้องวางเรียงให้เหมือนเดิมด้วย

หมายเหตุ     

               ครูอาจต้องช่วยเด็กในการเก็บของเรียงไว้บนชั้นด้วย

แบบฝึกหัดที่ 1 

               เด็กอาจเลือกที่จะสร้างหอคอยสีชมพู

หมายเหตุ

               บล็อกไม้ยังมีประโยชน์ที่จะทำให้เด็กเห็นความแตกต่างของขนาดที่ชัดเจนทั้งสามด้านระหว่างบล็อกสองก้อนที่เรียงต่อกัน ทั้งด้านความกว้าง ความยาว และความสูง  ไม่ใช่เรื่องเสียเวลาเลยที่จะช่วยเสริมสร้างความคิดพื้นฐานให้กับเด็กที่เรียนรู้ได้ค่อนข้างช้า ด้วยการเริ่มต้นอย่างง่ายๆก่อน โดยวิธีการต่างๆดังนี้

  • ใช้เพียงบล็อกที่เล็กที่สุดเพียงห้าชิ้น
  • ใช้เพียงบล็อกที่ใหญ่ที่สุดเพียงห้าชิ้น
  • ใช้บล็อกขนาดกลางที่เรียงลำดับกันเพียงห้าชิ้น
  • สำหรับเด็กที่ช้ามากอาจเริ่มโดยใช้บล็อกเพียงแค่สามก้อน ตามลำดับต่างๆข้างต้น

ข้อเสนอแนะ

               ตอนที่ 2 เมื่อเด็กสามารถสร้างหอคอยโดยการวางเรียงต่อตรงกลางได้แล้ว ครูสามารถสาธิตวิธีการเรียงแบบใหม่โดยเรียงให้ด้านทั้งสองของหอคอยทุกชั้นอยู่ในระนาบเดียวกันหรือเรียงกันเป็นเส้นตรงขึ้นไป การสร้างหอคอยวิธีนี้ เป็นการช่วยให้เด็กเห็นความสัมพันธ์ระหว่างบล็อกชิ้นที่เล็กที่สุดกับบล็อก  ก้อนอื่นๆนั้นก็คือ บล็อกก้อนที่เล็กที่สุดนั้นสามารถวางได้พอดีกับช่องว่างที่เหลือของหอคอยทุกชั้นทั้งสองด้าน ครูสามารถสาธิตข้อเท็จจริงนี้กับเด็ก

แบบฝึกหัดที่ 2   

               เด็กอาจเลือกสร้างหอคอยด้วยวิธีนี้

แบบอื่นๆ     

                   เมื่อเด็กสามารถสร้างหอคอยวิธีนี้ได้แล้ว ควรทำการทดลองแบบอื่นๆด้วย เช่น ลองสร้างต่อกันเป็นรูปเกลียว ควรปล่อยให้เด็กค้นหาวิธีการสร้างให้มากที่สุดเท่าที่จะจินตนาการได้ และเมื่อเด็กทำได้จนคล่องแล้ว ครูสามารถเพิ่มพูนความรู้ด้านคำศัพท์ให้กับเด็กได้ด้วยตามลักษณะการสร้างที่เด็กทำได้

                  ในอีกแง่หนึ่งของอุปกรณ์ชุดนี้ก็คือ บล็อกชิ้นที่เล็กที่สุดนั้นมีขนาด 1ลูกบาศก์เซ็นติเมตร และชิ้นที่มีขนาดใหญ่ที่สุดมีขนาดเท่ากับ 1000 ลูกบาศก์เซ็นติเมตร (1 ลิตร) เด็กจะเรียนรู้ข้อเท็จจริงนี้ได้อย่างมากในภายภาคหน้า  การทำกิจกรรมนี้ก็เป็นการสร้างประสบการณ์พื้นฐานที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

พิงค์ ทาวเวอร์

เพิ่มเติมขั้นที่ 1

               การสร้างหอคอยสีชมพู นำบล็อกไม้มาต่อกันในแนวตั้งโดยวางชิ้นที่ใหญ่ที่สุดก่อนแล้วตามด้วยขนาดเล็กรองลงมาตามลำดับโดยแต่ละชิ้นต้องวางให้ขอบตรงกัน 2 ด้านและจะเห็นขอบที่เหลืออีกสองด้าน แสดงให้เด็กเห็นว่าบล็อกชิ้นที่เล็กที่สุดนั้นจะเป็นตัวทดสอบว่าสร้างถูกหรือไม่ ถ้าสร้างได้ถูกต้อง บล็อกชิ้นที่เล็กที่สุดจะต้องเท่ากับขอบที่เหลือของแต่ละชิ้น

เพิ่มเติมขั้นที่ 2

  • ชักชวนให้เด็กสร้าง
  • บอกเด็กให้หลับตา
  • เอาบล็อกออกหนึ่งชิ้น
  • เอาบล็อกวางไว้ข้างๆหอคอย
  • บอกให้เด็กลืมตาแล้วถามว่าบล็อกชิ้นนั้นควรจะอยู่ตำแหน่งไหน
  • นำบล็อกชิ้นนั้นวางตามตำแหน่งที่เด็กบอก และให้เด็กตรวจสอบว่าถูกต้องหรือไม่ โดยการนำบล็อกชิ้นที่เล็กที่สุดมาวัดตรวจสอบ

 เพิ่มเติมขั้นที่ 3

              ทำเหมือนขั้นที่ 2 แต่คราวนี้ให้นำบล็อกชิ้นที่เอาออกซ่อนไว้ข้างหลัง

เพิ่มเติมขั้นที่ 4

               นำพรมมาปูไว้สองผืนตรงข้ามกัน วางบล็อกคละกันไว้บนพรมผืนที่ 1 บอกให้เด็กนำบล็อกจากพรมผืนที่ 1 มาสร้างหอคอยบนพรมผืนที่ 2 ทีละชิ้น หากเด็กนำมาผิดอันให้เด็กนำกลับไปไว้ที่เดิมแล้วนำชิ้นใหม่ที่เด็กรู้สึกว่าเป็นชิ้นที่ถูกต้อง 

เพิ่มเติมขั้นที่ 5

               ครูและเด็กช่วยกันนำบล็อกไปวางไว้รอบๆห้อง(โดยไม่ต้องซ่อน) จากนั้นให้เด็กไปเลือกหาบล็อกทีละชิ้นมาสร้างหอคอยให้ถูกต้อง

หมายเหตุ:

               สำหรับกิจกรรมประสาทสัมผัสด้านความจำนี้สามารถประยุกต์ใช้ได้กับอุปกรณ์หลากชนิด
ซึ่งหากเด็กนำชิ้นที่ไม่ถูกต้องมา ก็จะต้องนำกลับไปไว้ที่เดิมและนำชิ้นใหม่ที่รู้สึกว่าเป็นชิ้นที่ถูกต้องมาใช้

วัตถุประสงค์หลัก :

               เพื่อพัฒนาประสาทสัมผัสเบื้องต้นด้านการมองเห็นทั้งสามมิติ

วัตถุประสงค์รอง :

               การพัฒนากล้ามเนื้อด้านการเคลื่อนไหว

คำศัพท์ที่เรียนรู้ :

               ใหญ่ -เล็ก, ใหญ่กว่า-เล็กกว่า, ใหญ่ที่สุด-เล็กที่สุด